การศึกษาสถาปัตยกรรมวัดอรุณราชวราราม

Other Title:
A study on architecture in Wat Arun-Rajchawararam
Subject:
Date:
1992
Publisher:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษางานสถาปัตยกรรมในวัดอรุณราชวราราม ตามกระบวนการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ในเรื่องของประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมภายในวัด และการวิเคราะห์ด้านคติสัญลักษณ์ และความสัมฤทธิ์ผลในการออกแบบงานสถาปัตยกรรม
ในชั้นต้นจะเริ่มจากการศึกษาประวัติศาสตร์ โดยเริ่มศึกษาจากยุคสมัยแรกเริ่มที่มีการบันทึกข้อมูล คือสมัยกรุงธนบุรี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยแบ่งช่วงเวลาการศึกษาเป็นช่วงการขึ้นครองราชย์ ของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่าง ๆ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน โดยจะแสดงรายละเอียด ในแง่ของการก่อสร้าง และบูรณปฏิสังขรณ์ รวมทั้งเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาของวัด อันจะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัด ในแง่ประวัติศาสตร์ ได้แก่ การที่ วัดอรุณราชวรารามได้เคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต ก่อนจะนำข้ามมาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อีกทั้งมีความสำคัญในแง่ของทำเลที่ตั้ง โดยเป็นวัดสำคัญริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และยังเป็นวัดที่มีเขตติดต่อกับพระราชวังของพระเจ้ากรุงธนบุรี ในลักษณะดังนี้ ถือว่า วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดที่มีความสำคัญที่สุดในฝั่งตรงข้ามเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ และวัดนี้ได้ถูกทำนุบำรุงด้วยดีมาตลอดทุกรัชกาล อีกทั้งยังเป็นวัดสำคัญในการประกอบพิธีพยุทยาตราทางชลมารค และการถวายผ้ากฐินหลวง จนถึงปัจจุบัน
การศึกษาในเชิงสถาปัตยกรรม จะแบ่งพื้นที่การศึกษาเป็น 3 ส่วนสำคัญ และอีก 1 ส่วนย่อย คือส่วน พระปรางค์, ส่วนพระอุโบสถ, และส่วนพระวิหาร โดยมีส่วนย่อยอื่น ๆ ประกอบ ได้แก่ ส่วนตกแต่งบริเวณวัด และส่วนสังฆาวาส การศึกษาในแง่มุมนี้ จะกล่าวถึงแผนผัง และการจัดองค์ประกอบ รวมทั้งการจัดพื้นที่ใช้สอยในตัวสถาปัตยกรรม ซึ่งจุดสำคัญที่สุดของวัดอรุณราชวรารามจะอยู่ที่ องค์พระปรางค์ใหญ่ ซึ่งสร้างเสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่ 3 อันเป็นงานช่างสถาปัตยกรรมชั้นสูง ที่ประสบผลสำเร็จในการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างดียิ่ง กล่าวคือการสร้างพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามนี้ นับเป็นการจำลองแผนภูมิจักรวาลตามคติในไตรภูมิ ออกเป็นวัตถุธรรม เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งเคารพบูชาในพระพุทธศาสนา และอีกนัยหนึ่งนับเป็นการสร้างพุทธบูชา เพื่อแสดงบารมีในการครองแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ในขั้นตอนสุดท้ายของการศึกษา เป็นการวิเคราะห์ถึงระบบสัญลักษณ์ อันแสดงถึงภาพลักษณ์ของแผนภูมิจักรวาล ตามคติไตรภูมิ การออกแบบแผนผัง และรูปทรงขององค์พระปรางค์ รวมถึงส่วนของพระอุโบสถและพระวิหารนับเป็นผลงานอันเยี่ยมยอดของช่างก่อสร้างในยุคสมัยนั้น ที่สามารถสร้างพระปรางค์ได้ใหญ่โตที่สุด และมีความงดงามในรูปทรง และแผนผังที่สมบูรณ์ลงตัว จนนับเป็นจุดสุดท้ายของการวิวัฒนาการ ในการสร้างสิ่งเคารพบูชาในรูปแบบขององค์พระปรางค์
วัดอรุณราชวราราม นับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่ง อันเป็นเครื่องแสดงถึงความสามารถ และอัจฉริยะภาพในเชิงช่าง ของสกุลช่างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ อันส่งผลให้เป็นวัตถุธรรมอันทรงคุณค่า และเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความสืบเนื่อง ในการสร้างพุทธบูชาของวัฒนธรรมไทย อันควรค่าแก่การอนุรักษ์ และการศึกษาวิจัยเป็นอย่างยิ่ง The aim of doing this thesis is to study the architectural structure of Wat Arun-Ratchawararam. The studies include history of architecture, historical background, interior architecture (In the temple itself ), the importance of symbolism and its significance in Thai architecture particularly in that era.
This thesis started in the beginning with the historical background from Thonburi period to Rattanakosin, where for the first time history was being recorded, it include the coronation of different kings up until the present time. It also shows the construction, restoration and important everts associated with the origin of Wat Arun-Rajchawararam in details.
For an example, Wat Arun-Rajchawararam was the chosen place for Emerald Buddha before Wat Pra-Srirattana Sadsadaram. This was quite important in the history of Wat Arun-Rajchawararam. It was also important because of its location; being on the bank of Chao Praya River and secondary because it was next to the King Kung Thonburi’s Palace. All these factors had made Wat Arun-Rajchawararam became the most important Wat that situated opposite the island of Rattanakosin. Wat Arun-Rajchawararam has been well looked afterthough the centuries. As it is an important place for special caremonies like Royal Barque ceremony and Kra-Tin ceremony.
To study Wat Arun-Rajchawararam’s architercutal structure, this thesis has been devidial into 3 main parts and 1 small.
The main parts are Prang, Ubosot and Vihara. The other part explains the decoration of Wat, composition and the special design of Wat for special porposes.
The most important part of Wat Arun-Rajchawararam is the main Prang which was built during King Rama 3. It was the best of its kind. The Prang of Wat Arun-Rajchawararam was built as a model of cosmologic diagramme which was shown in Tribhumi. This figuration became a symbol in buddist religion. It was also the early Rattanakosin period.
The cosmologic diagramme in Tribhumi is emphasised in the last part of this thesis. This includes the studies of symbolism, architectural plans, and structures of Prang, Ubosot and Vihara. They were the best and most skilful structures at that time. The Prang was beautiful, enormous and architecturally correct. These conclude the studies of development and construction of Prang.
Wat Arun-Rajchawararam is one of the most important landmark of its kind. It showed the effort, skill and harmony of people of early Rattanakosin. This made Wat Arun-Rajchawararam unique, Materialistically valnable and because a symbol of Buddism in Thai culture. Wat Arun-Rajchawararam possesses important qualities and deserve recoquition and care; both in historical ground and spiritnally.
Description:
วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.(ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม))--มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2535 Thesis (M.A. (History of architecture))--Silpakorn University, 1992)
Type:
Discipline:
สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
Collections:
Total Download:
1192