การศึกษาสถาปัตยกรรมในเขตพุทธาวาสวัดเทพธิดารามวรวิหาร

Other Title:
The study on architecture in the ecelesiatical section of Wattheptidaramworawihan
Date:
1995
Publisher:
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Abstract:
วัดเทพธิดารามวรวิหารเป็นพระอาราม ๑ ใน ๓ วัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สร้างขึ้นในปีพ.ศ. ๒๓๗๙ เพื่อพระราชทานเป็นเกียรติแก่พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวิลาสกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ที่ทรงโปรดปรานเป็นอย่างยิ่ง โดยทรงโปรดให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าชายลัดดาวัลย์ (กรมหมื่นภูมินทรภักดี) เป็นแม่กองอำนวยการสร้าง ณ บริเวณตำบลสวนหลวงพระยาไกร ใกล้กับประตูสำราญราษฎร์ ในการสร้างวัดเทพธิดารามนี้ พระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพได้ทรงร่วมพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบด้วย วัดเทพธิดารามสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๓๘๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินผูกพัทธสีมาด้วยพระองค์เอง และทรงพระราชทานวิสุงคามสีมาด้วย
วัดเทพธิดารามวรวิหารจัดได้ว่า เป็นวัดที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นได้จากการที่โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดแรกซึ่งไม่ปรากฏการกล่าวถึงว่าทรงโปรดฯให้มีการสร้างวัดมาก่อน คงกล่าวถึงการสถาปนา บูรณะ และปฏิสังขรณ์วัดวาอารามอย่างมากมาย ทั้งยังโปรดฯให้สร้างขึ้นในบริเวณที่เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญทางด้านทิศตะวันออกของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ บริเวณปากคลองหลอด หรือ คลองวัดเทพธิดารามในปัจจุบัน ซึ่งเป็นคลองที่ขุดเชื่อมต่อกับคลองรอบกรุงด้านใต้วัดสระเกศ อันเป็นคลองที่ขุดครั้งสมัยรัชกาลที่ ๑ คราวย้ายพระนครข้ามจากฝั่งธนบุรี ( ปัจจุบันเรียกคลองโอ่งอ่าง ) ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ วัดเทพธิดาราม มีการจัดวางแผนผังพระอารามตามแบบประเพณีนิยม ดังที่ปฏิบัติกันสืบมาแต่ในอดีต ด้วยการจัดพื้นที่ของวัดออกเป็น ๒ เขตสำคัญใหญ่ ๆ ได้แก่
- เขตพุทธาวาส
- เขตสังฆาวาส
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ปรากฏในเขตพุทธาวาสของวัดเทพธิดารามวรวิหารนี้ มีลักษณะของการออกแบบที่เป็นลักษณะเฉพาะ ที่ปรากฏการสร้างอย่างแพร่หลายในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นรูปแบบที่เป็นแบบเฉพาะตัว กล่าวคือ ในการก่อสร้างได้กำหนดรูปแบบของสถาปัตยกรรม โดยการนำเอาอิทธิพลศิลปะแบบจีนเข้ามาผสมผสานกับศิลปะแบบไทยซึ่งเป็นแบบอย่างตามคตินิยมแบบดั้งเดิม เกิดเป็น “ แบบจีนผสมไทย ” ( Chino – Thai style ) เรียกสถาปัตยกรรมแบบใหม่นี้ว่า “ แบบราชนิยมในรัชกาลที่ ๓” หรือที่เรียกว่า “ แบบกระบวนจีน” หรือ “ วัดนอกอย่าง ”
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงให้ความเห็นว่า การสร้างพระอารามในช่วงนี้คงมีช่างชาวจีนช่วยเหลือจนเกิดเป็นรูปแบบคล้ายสถาปัตยกรรมแบบจีน ด้วยลักษณะพิเศษของอาคารที่มีความคงทน ถาวรนี้เอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คงจะเห็นดีด้วย และเกิดความนิยมในการสร้างสรรงานสถาปัตยกรรมลักษณะดังกล่าวอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในการสร้างพระอาราม นับได้ว่าเป็นงานพุทธศิลป์ใหม่
ลักษณะสำคัญทางสถาปัตยกรรมในการสร้างอาคารหลักของพระอาราม โดยเฉพาะพระอุโบสถ และพระวิหารนั้น ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในการก่อหน้าบันด้วยอิฐโบกปูนเต็ม แบบที่เรียกว่า “ กระเท่เซ ” ประดับตกแต่งด้วยปูนปั้นประกอบกระเบื้องเคลือบสีรูปสัตว์ และธรรมชาติ ไม่มีการยื่นไขราหน้าจั่ว และการตัดรอนส่วนประดับเครื่องสูงหลังคาซึ่งแต่เดิมนิยมทำเป็นเครื่องไม้ก็เปลี่ยนเป็นเครื่องก่อประดับกระเบื้องเคลือบสี หลังคาอาคารแบบทำเป็นกันสาดโดยรอบอาคารด้วยการตั้งเสาสี่เหลี่ยมขึ้นรับน้ำหนักชายคา ไม่นิยมทำบัวหัวเสา เป็นลักษณะทางศิลปสถาปัตยกรรมที่กล่าวกันว่าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ลักษณะการออกแบบสถาปัตยกรรมภายในเขตพุทธาวาสวัดเทพธิดารามวรวิหาร ได้รับการออกแบบภายใต้องค์ประกอบที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ประกอบด้วยอาคารหลัก และอาคารต่าง ๆ ตามลำดับความสำคัญ คือ พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ พระปรางค์ พระเจดีย์ ศาลาต่าง ๆ และซุ้มประตู เป็นต้น การปลูกสร้างอาคารแต่ละหลังเป็นอย่างต่อเนื่อง และสัมพันธ์กันภายในเขตพุทธาวาส กล่าวได้ว่า แผนผังของวัดเทพธิดารามนี้ เป็นแผนผังที่มีการกำหนดพื้นที่การใช้สอยของสถาปัตยกรรมแต่ละอย่างที่สมบูรณ์ที่สุด Wat Thepthidaram Worawiharn is one of the three temples constructed by the order of King Rama III in the year 1836, as a dedication to Her Royal Highness Princess Wilas (Krommamun Apsorn Sudathep). his eldest and favourite daughter. The construction took place at Suan Luang Phraya Krai District near Samran Rat Gate, supervised by HRH Prince Laddawan, the Construction Director. HRH Krommamun Apsorn Sudathep also made her personal contribution to the construction. When the temple was completed in 1893, the king himself tied the ceremonial boundary and officially bestowed land ownership to the temple.
Wat Thepthidaram Worawiharn was considered one of the most important in the reign of King Rama III as it was the first temple constructed by his order, although previously, he had many temples honoured, restored, and reconstructed. The temple’s location was also remarkable as it was the transportation centre of the eastern side of Rattanakosin City, which was the mouth of Klong (canal) Lod, or Klong Wat Thepthidaram as it is called nowadays. Klong Lod was dug to connect surrounding canal in the south of Wat Sa Ket (Klong Ong Ang), which was dug since the reign of King Rama I during the move of city centre from Thonburi to Bangkok. Another important aspect of Wat Thepthidaram is its planning which was based on ancient tradition by dividing the precinct into 2 main quarters which are:
- Buddhawas ( The Buddha’s Quarter ) or the ecclesiastical section
- Sangkhawas ( The Monks’ Quarter )
Architectural characteristic in the eccleciastical section of Wat Theptidaramworawihan is a combination between Chinese art and Thai traditional art which resulted in Chino-Thai style architecture. This characteristic was particularty distinctive in King Rama III’s reign that it was called “ The King’s Favouritism ’’, “ Chinese Mode’’ or “ Extraordinary Temple ’’.
HRH Somdej Krommaphraya Narissara Nuwadtiwong had commented on this style that it might have been achieved through the work of Chinese craftsmen involved in construction. As the result was durable and satisfactory to the King, it became popular later on, especially in temple architecture which could be considered “contemporary Buddhist architecture” at that time.
Outstanding architectural characteristics of the main buildings namely. Ubosatha end Vihara, are such as, the brick pediments decorated with stucco and ceramics in animals and plants motifs, no projecting eaves from the gables, roof ornaments were reduced and changed from traditional wooden ornaments to brick and coloured ceramics ones Moreover, corridors surrounded the buildings are covered with long eaves supported by rectangqular pillars without capitals. These are the characteristics firstly appeared in the beginning of Rattanakosin Period.
Architectural planning in the ecclesiastical section comprises main buildings and subsidiary buildings which are : Ubosatha, Vihara, Preaching Hall, Prang, Pagoda, pavilions, and gates. These were planned to serve architectural functions while maintaining relationship between each building as well as integration to the whole compound, which has made Wat Thepthidaram a perfect example of successful Thai Buddhist architecture.
Description:
วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม. (ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม))--มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2538 Thesis (M.A. (History of architecture))--Silpakorn University, 1995)
Type:
Discipline:
สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
Collections:
Total Download:
317